NEWS ニュース

การย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

1,729 views

การย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

บทความโดย กฤชวัฒน์ วัฒนคำแสง

บทนำ: การย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 

ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางด้านการเมืองระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีนมักจะเผชิญกับความตึงเครียด และการเผชิญหน้าระหว่างกัน หากแต่ในความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่างก็พึ่งพาซึ่งกันและกัน สำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply chains) ที่สำคัญของภาคเอกชนญี่ปุ่น และถือได้ว่าเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับสินค้า และบริการของภาคเอกชนญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน สำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศจีน การลงทุนโดยตรงจากภาคเอกชนญี่ปุ่น (FDI) ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีนถูกท้าทายอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเริ่มระบาดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเปย์ ประเทศจีน ช่วงเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 และได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะประกาศมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีน สำหรับบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะทำการศึกษา และอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีนผ่านภาคเอกชนญี่ปุ่นในประเด็นต่าง ๆ อันได้แก่ 

  1. ปัจจัยผลักดันที่นำไปสู่การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของภาคเอกชนญี่ปุ่น
  2. มาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ
  3. ฐานการผลิตใหม่สำหรับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน
  4. ผลลัพธ์จากการดำเนินมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ
  5. ข้อสังเกต

ปัจจัยผลักดันที่นำไปสู่การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของภาคเอกชนญี่ปุ่น 

การย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 มีปัจจัยที่สำคัญ 2 ปัจจัย อันได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน

ปัจจัยแรก ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนที่เริ่มนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2018 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหรือพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศจีน จากผลสำรวจในเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 พบว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวน 45% คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน บริษัทญี่ปุ่นจำนวน 42% คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยการจากการขึ้นภาษีศุลกากรในครั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นจำนวน 6% คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรในครั้งนี้อย่างรุนแรง และบริษัทญี่ปุ่นจำนวน 7% คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรในครั้งนี้ (Kajimoto 2019)

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก ตัดสินใจหรือมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงขึ้นจากสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันบริษัทญี่ปุ่นบางบริษัทก็ปรับตัวด้วยการลดกำลังการผลิตสินค้า โดยเฉพาะสินค้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว และมีแผนจะวางจำหน่าย รวมทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน และเพิ่มกำลังการผลิตของฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น

ตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ได้แก่ บริษัท ริโก้ จำกัด (Ricoh Co) ซึ่งเป็นบริษัทผลิต และจำหน่ายเครื่องพิมพ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น ที่เดิมมีฐานการผลิตภายในประเทศจีน หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนแล้ว  บริษัท ริโก้ ปรับตัวด้วยการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเครื่องพิมพ์ความเร็วสูง (high-speed printers) ออกจากมณฑลเซินเจิ้น (Shenzhen) ประเทศจีนมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และ เอสิคส์คอร์ปอเรชั่น (Asics Corp.) ซึ่งเป็นบริษัทผลิต และจำหน่ายเครื่องแต่งกาย และรองเท้ากีฬาสัญชาติญี่ปุ่น ที่เดิมมีฐานการผลิตภายในประเทศจีน หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน เอสิคส์ก็ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนมาตั้งฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม โดยเริ่มการย้ายฐานการผลิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 (Kantaro 2019)

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนได้ส่งผลให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหรือพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศจีนได้รับผลกระทบ และมีบางบริษัทที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น และสภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มที่จะกีดกันมากยิ่งขึ้น ยังส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่เดิมไม่มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เริ่มมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเช่นกัน 

ปัจจัยที่สอง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน

ประเทศจีน ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นทั้งในฐานะที่เป็นฐานการผลิต และตลาดที่สำคัญของภาคเอกชนญี่ปุ่น ในปีค.ศ. 2019 ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ดำเนินการภายในประเทศจีนมีจำนวนทั้งหมด 13,685 บริษัท (Nippon.com 2019) และบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างก็มีฐานการผลิตหรือพึ่งพิงห่วงโซอุปทานภายในประเทศจีน

ในช่วงกลางเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 เกิดการแพร่ะบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน และต่อมารัฐบาลจีนประกาศจำกัดการเดินทาง และงดเว้นการทำกิจกรรมนอกเคหะสถาน จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท และโรงงานที่ดำเนินการภายในประเทศจีนทุกแห่ง ซึ่งรวมไปถึงบริษัท และโรงงานญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในประเทศจีนต้องยุติการดำเนินการชั่วคราว ทำให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนไม่สามารถผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคได้ ในขณะเดียวกันภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศอื่น แต่พึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานจากประเทศจีนก็ไม่สามารถผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคได้เช่นกัน ดังนั้นภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหรือพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศจีนจึงได้รับผลกระทบบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง

สำหรับกลุ่มเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่สำคัญมากที่สุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งฐานการผลิตในประเทศจีน ตัวอย่างที่สำคัญ คือ หน้ากากอนามัย ในช่วงสถานการณ์ปกติ มากกว่า 80% ของจำนวนหน้ากากอนามัยภายในประเทศญี่ปุ่นถูกผลิตจากฐานการผลิตในประเทศจีน ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด รัฐบาลจีนมีการประกาศควบคุมการส่งออกเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด อาทิ อุปกรณ์สำหรับป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE (personal protective equipment) และหน้ากากอนามัย ส่งผลให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นไม่สามารถส่งเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ และทำให้ปริมาณเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศญี่ปุ่นไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (Asia Pacific Foundation of Canada 2020)

จากสถานการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงปัญหาอันเกิดมาจากการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานของประเทศจีนประเทศเดียวมากจนเกินไป โดยการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวของรัฐบาลญี่ปุ่นสะท้อนมาจากแถลงการณ์ของที่ประชุมคณะกรรมาธิการการลงทุนเพื่ออนาคต (Council on Investment for the Future) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 มีใจความสำคัญว่า ประเทศญี่ปุ่นพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานของประเทศจีนมากจนเกินไป ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และประกันห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นจะปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานของตนเองใหม่ด้วยการหลีกเลี่ยงการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานจากประเทศใดประเทศหนึ่ง และย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศญี่ปุ่นหรือไปยังประเทศอื่นให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น (Prime Minister of Japan and His Cabinet 2020)

มาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของรัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตหรือพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศจีน เพื่อจัดการกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ประกาศมาตรการสนับสนุนทางด้านเงินลงทุนให้แก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศจีน และต้องการย้ายฐานการผลิตกลับมายัง ประเทศญี่ปุ่นหรือย้ายไปยังประเทศอื่น โดยเกณฑ์ในการจัดลำดับเงินสนับสนุนที่ภาคเอกชนญี่ปุ่นจะได้รับ ได้แก่ 1. ความสำคัญของบริษัทญี่ปุ่นที่ผลิตสินค้าที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดในครั้งนี้ และ 2. ประเทศปลายทางที่ตั้งฐานการผลิต

รัฐบาลญี่ปุ่นจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นจำนวน 2.435 แสนล้านเยนหรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงวดแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 จำนวน 7 หมื่นล้านเยนหรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ให้แก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศจีน และต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นจำนวน 87 บริษัท แบ่งเป็นภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศญี่ปุ่น จำนวน 57 บริษัท  จำนวนงบประมาณสนับสนุนรวม 5.74 หมื่นล้านเยนหรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท และภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งประเทศปลายทางสำคัญ คือ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย จำนวน 30 บริษัท  (Vietnam Investment Review 2020) จำนวนงบประมาณสนับสนุนรวม 1.26 หมื่นล้านเยนหรือประมาณ 3.6 พันล้านบาท

ฐานการผลิตใหม่สำหรับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน

ฐานการผลิตใหม่สำหรับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศจีน และต้องการย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นตามมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนาม และประเทศไทย 

1.        ประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการดำเนินมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนในครั้งนี้ โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการลงทุนเพื่ออนาคต ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการแถลงเกี่ยวกับสถานการณ์ของห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีใจความสำคัญว่า “สินค้าที่พึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่ง และมีมูลค่าที่สูงจะกลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศญี่ปุ่น” (Prime Minister of Japan and His Cabinet 2020) ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของการย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีนมายังประเทศญี่ปุ่น คือ การลดการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่นภายในประเทศจีน และขยายภาคการผลิตภายในประเทศญี่ปุ่น

2.        ประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN)

มาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ มีการกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการดังกล่าว และภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการดังกล่าว และต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่วนใหญ่เลือกประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมาย

เหตุผลสำคัญที่ประเทศสมาชิกอาเซียนถูกเลือกเป็นฐานการผลิตใหม่ของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน ได้แก่

1. ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การที่ประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งอยู่ไม่ไกลจากประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ต้นทุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศจีน และต้นทุนการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ และวัตถุดิบสำหรับการผลิตจากทั้งสองประเทศต่ำกว่าการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น อาทิ อินเดีย เม็กซิโก

2. ต้นทุนการผลิตของประเทศสมาชิกอาเซียนต่ำ

3. ประเทศญี่ปุ่นในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ต้องการใช้มาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นให้ดียิ่งขึ้น

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน ถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตใหม่ที่รองรับภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนตามมาตรการสนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ

ผลลัพธ์จากการดำเนินมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ

          ภายหลังการประกาศนโยบายมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นออกจากประเทศจีนของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ภาคเอกชนญี่ปุ่นได้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวจำนวน 87 บริษัท แบ่งเป็นภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศจีน และย้ายฐานการผลิตมายังประเทศญี่ปุ่น จำนวน 57 บริษัท และภาคเอกชนญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในประเทศจีน และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น จำนวน 30 บริษัท และเมื่อพิจารณาลักษณะของการประกอบกิจการของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาคเอกชนญี่ปุ่นกลุ่มเดียวที่มีการเปิดเผยรายชื่ออย่างเป็นทางการ จะพบว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศญี่ปุ่น 3 อันดับแรกประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ จำนวน 14 บริษัท อุตสาหกรรมการผลิตเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 12 บริษัท และอุตสาหกรรมผลิตยา จำนวน 6 บริษัท (รายละเอียดตามแผนภาพที่ 1)

          นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาในส่วนภาคการผลิตของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศญี่ปุ่น จะพบว่า ภาคส่วนการผลิตที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ คือ ภาคส่วนการผลิตเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 32 บริษัท อันได้แก่ กลุ่มสินค้าหน้ากาก กลุ่มสินค้าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กลุ่มสินค้าแอลกอฮอล์ และกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ และชุดตรวจทางการแพทย์ (รายละเอียดตามตารางที่ 1)    ในส่วนภาคการผลิตอื่นที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ภาคส่วนเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด จำนวน 1 บริษัท ภาคส่วนการผลิตสินค้ายานยนต์ จำนวน 4 บริษัท ภาคส่วนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 3 บริษัท ภาคส่วนการผลิตสินค้าสารเคมี จำนวน 3 บริษัท และภาคส่วนการผลิตสินค้าอื่น ๆ จำนวน 4 บริษัท (Ministry of Economy, Trade and Industry 2020)

          บริษัทญี่ปุ่นบริษัทแรกที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน และมาตั้งฐานการผลิตในประเทศญี่ปุ่นตามมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนของอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ คือ บริษัท Iris Ohyama ในส่วนการผลิตหน้ากากอนามัย บริษัท Iris Ohyama มีฐานการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ในประเทศจีนจำนวน 2 แห่ง โดยอยู่ในเมืองต้าเลียน (Dalian)  มณฑลเหลียวหนิง (Liaoning) จำนวน 1 แห่ง และเมืองซูโจว (Suzhou) มณฑลเจียงซู จำนวน 1 แห่ง ภายหลังการประกาศมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 บริษัทดังกล่าวได้เข้ารับการสนับสนุนทางด้านเงินลงทุนตามมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิต โดยบริษัท Iris Ohyama ได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินลงทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นประมาณ 2.3 พันล้านเยนหรือประมาณ 691 ล้านบาท (Dooley and Inoue 2020) ในการตั้งฐานการผลิตหน้ากากอนามัยแห่งใหม่ในจังหวัดมิยากิ (Miyagi) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 150 ล้านชิ้น และได้เริ่มการผลิตในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นในการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตหน้ากากอนามัยของบริษัท Iris Ohyama ก็คือ การลดการพึ่งพิงห่วงโซ่อุปทานของประเทศจีนในการผลิตหน้ากากอนามัย (Nussey and Yamazaki 2020)

ข้อสังเกต

          “ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน” ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น และภาคเอกชนญี่ปุ่น หากแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่นถูกท้าทายอย่างรุนแรงจาก 2 เหตุการณ์ที่สำคัญ อันได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กับประเทศจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเริ่มต้นแพร่ระบาดในประเทศจีนช่วงปลายปี ค.ศ. 2019

          ผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้ความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่นได้กลายมาเป็นประเด็นที่ภาครัฐให้ความสนใจนับตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ เป็นต้นมาจนถึงนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ข้อสังเกตที่สำคัญที่ได้รับจากการศึกษาในครั้งนี้ คือ “ความพยายามในการสร้างความมั่นคงให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น ด้วยการกระจายฐานการผลิตต่าง ๆ ออกจากประเทศจีน ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น” โดยรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงกลับมายังประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศญี่ปุ่นดีขึ้น และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศญี่ปุ่นให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ส่วนการผลิตในภาคส่วนอื่นที่ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่มีฐานการผลิตในประเทศจีนย้ายไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศเวียดนาม และ ประเทศไทย เป็นต้น

 

แผนภาพที่ 1 : ลักษณะการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศญี่ปุ่น ที่มา Ministry of Economy, Trade and Industry 2020 ..

แผนภาพที่ 1 : ลักษณะการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศญี่ปุ่น

ที่มา Ministry of Economy, Trade and Industry 2020

 

ตารางที่ 1 : ตารางแสดงภาคส่วนการผลิตเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ของภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมายังประเทศญี่ปุ่น

ประเภทเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

จำนวน

ประเภทเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์

จำนวน

เวชภัณฑ์ทางการแพทย์

13

อุปกรณ์ และชุดตรวจ

6

เวชภัณฑ์

1

ชุดตรวจสอบ

1

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการติดเชื้อ

1

ยาตรวจหายีนโคโรน่าไวรัส

1

Medical Face Shield

1

น้ำยาทดสอบ PCR

1

ฉากควบคุมการติดเชื้อ

1

อุปกรณ์ทดสอบโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่

1

พาร์ทิชั่นกรอกอากาศ

1

ชุดทดสอบโคโรน่าไวรัสตัวใหม่

1

เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สำหรับพยาบาล (เตียง รถเข็น)

1

สารวินิจฉัยโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่

 1

ชุดป้องกันการติดเชื้อ

1

หน้ากาก

15

ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องช่วยหายใจ

2

หน้ากากผ้า

2

ถุงมือยาง

2

หน้ากากอนามัยแบบกระดาษ

8

วัคซีน

1

หน้ากากกระดาษทางการแพทย์

2

เข็มฉีดวัคซีน

1

หน้ากากคุณภาพสูง

1

แอลกอฮอล์

3

ฟิลเตอร์หน้ากาก

1

แอลกอฮอล์เข้มข้นสูงสำหรับฆ่าเชื้อ

1

ยางรัดหน้ากาก

1

น้ำยาฆ่าเชื้อแบบแอลกอฮอล์

1

 

 

แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

1

 

 

เภสัชกรรม

3

อุปกรณ์ทางการแพทย์

2

เภสัชกรรม

2

เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส

1

ตัวยาสำคัญ

1

เครื่องเอ็กซ์เรย์

1

ที่มา Ministry of Economy, Trade and Industry 2020

 

บรรณานุกรม

Alberti, Francesco. “Japan switching manufacturing to ASEAN.” The ASEAN Post. April 19, 2020.
https://theaseanpost.com/article/japan-switching-manufacturing-asean.

Asia Pacific Foundation of Canada. “Japan Subsidizes Companies to Relocate from China.” Asia Pacific Foundation of Canada. Accessed December 21, 2020. https://www. asiapacific.ca/asia-watch/japan-subsidizes-companies-relocate-china.

“China Appeal Fading for Japanese Companies.” nippon.com, July, 2019.
https://www. nippon.com/en/japan-data/h00483/china-appeal-fading-for-japanese-companies.html.

Dooley, Ben and Makiko Inoue. “Japan Is Paying Firms to Make Things at Home. But China’s Pull Is Still Strong.” The New York Times. September 26, 2020. https://www.nytimes. com/2020/09/26/business/japan-onshoring.html.

Denyer, Simon. “Japan Helps 87 Companies to Break from China after Pandemic Exposed Overreliance.” The Washington Post. WP Company, July 21, 2020. https://www. washingtonpost.com/world/asia_pacific/japan-helps-87-companies-to-exit-china-after-pandemic-exposed-overreliance/2020/07/21/4889abd2-cb2f-11ea-99b0-8426e26d203 b_story.html.

Igaz, Stefani. “Japan started moving its production outside of China.” Economo. April 22, 2020.
http://www.economo.co.uk/japan-started-moving-its-production-outside-of-china/.

“Iris Ohyama to Boost Face Mask Output in Japan”. Nippon.com. April 22, 2020.
https:// www.nippon.com/en/news/yjj2020042200674/.

“Japanese companies relocating to Bangladesh from China to get subsidy.” DhakaTribune. September 7, 2020. https://www.dhakatribune.com/business/2020/09/07/japanese-companies-relocating-to-bangladesh-from-china-to-get-subsidy.

Kajimoto, Tetsushi. “Japan Inc increasingly hit by trade war, but few shifting from China: Reuters poll.” Reuters. September 13, 2019. https://www.reuters.com/article/us-japan-companies-trade-idUSKCN1VX2Y2.

Komiya, Kantaro. “Japan Firms Join Exodus From China's Factories as Tariffs Bite.” Bloomberg Quint. August 5, 2019.
https://www.bloombergquint.com/ onweb/japan-inc-joins-exodus-from-china-s-factories-as-tariffs-bite.

Ministry of Economy, Trade and Industry. “Successful Applicants Selected for the Program for Promoting Investment in Japan to Strengthen Supply Chains.” Ministry of Economy, Trade and Industry. July 17, 2020.
https://www.meti.go.jp/english/press/2020/0717_ 002.htmls

New Straits Times. “Japan looking at Asean as next manufacturing base.” New Straits Times. May 5, 2020. https://www.nst.com.my/world/region/2020/05/589950/japan-looking-asean-next-manufacturing-base.

Nussey, Sam and Makiko Yamazaki. “Japan's unorthodox household goods champion rides a pandemic boom.” Reuters. October 23, 2020. https://www.reuters.com/article/japan-reshoring-iris-ohyama-focus-idUSKBN27809N.

Pennington, John. “How ASEAN benefits as Japan shifts production away from China.” ASEAN Today. July 30, 2020. https://www.aseantoday.com/2020/07/how-asean-benefits-as-japan-shifts-production-away-from-china/.

Reynolds, Isabel and Emi Urabe. “Japan to Fund Firms to Shift Production Out of China.” Bloomberg. April 8, 2020. https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-04-08/ japan-to-fund-firms-to-shift-production-out-of-china.

VNA. “Japan helps 15 companies move factories to Vietnam.” Vietnam Investment Review. July 21, 2020.
https://vir.com.vn/japan-helps-15-companies-move-factories-to-vietnam-77975.html

ผู้จัดการออนไลน์. “15 บริษัทญี่ปุ่นเลือกเวียดนามตั้งโรงงานใหม่ หลังรัฐอัดฉีดทุนหนุนย้ายฐานออกจากจีน.” ผู้จัดการออนไลน์. 20 กรกฎาคม 2564. https://mgronline.com/indochina/detail/9630000074276.

Login