การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศ ญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศ ญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
บทความโดย กฤชวัฒน์ วัฒนคำแสง
ผู้ช่วยวิจัยประจำโครงการ JWP
บทนำ
นับตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ภูมิภาคยุโรปตะวันออกได้เกิดสถานการณ์ตึงเครียดทางทหารขึ้น นั่นคือ ประเทศรัสเซียเคลื่อนย้ายกำลังพลมากกว่า 150,000 นายไปยัง 3 ภูมิภาคของประเทศยูเครน อันได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีการขนย้ายยุทธภัณฑ์ทางทหารจำนวนมาก และมีการซ้อมรบในบริเวณใกล้พรมแดนของประเทศยูเครน โดยสหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกนาโต้ (NATO) ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของกองทัพรัสเซียในครั้งนี้ เนื่องจาก ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้กับพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศยูเครนที่กำลังมีข้อพิพาททางด้านพรมแดนอยู่ หากแต่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า การซ้อมรบของกองทัพรัสเซียในครั้งนี้เป็น “การซ้อมรบเชิงยุทธศาสตร์” และมิได้หวังว่าจะนำกองทัพดังกล่าวเข้าไปรุกล้ำพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศยูเครนตามที่สหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกนาโต้กังวล ถึงกระนั้นคำประกาศที่กองทัพรัสเซียจะไม่รุกล้ำพรมแดนประเทศยูเครนของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ก็สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 เมื่อ นาย VASSILY NEBENZIA ผู้แทนถาวรของประเทศรัสเซียในคณะมนตรี
- สงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
- จุดยืนทางด้านนโยบายต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
- การดำเนินมาตรการทางด้านนโยบายต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
- บทสรุป
บทที่ 1 สงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
สาเหตุของสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022 สามารถมองย้อนไปได้ถึงปีค.ศ. 2014 เมื่อประเทศรัสเซียเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองในประเทศยูเครนด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และยุทธภัณฑ์ทางทหารแก่กลุ่มที่ต้องการปลดแอกจากการอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศยูเครน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประเทศรัสเซียสามารถสนับสนุนกลุ่มปลดแอกในภูมิภาคไครเมีย (Crimea) ให้แยกภูมิภาคไครเมีย ออกจากประเทศยูเครน และผนวกเข้ากับประเทศรัสเซียได้สำเร็จ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นด้วยในดินแดนดอนบัส หากแต่ในกรณีของดินแดนดอนบัส (Donbas) ความพยายามของกลุ่มที่ต้องการปลดแอกด้วยวิธีการรัฐประหารถูกต่อต้านจากกองทัพยูเครนอย่างหนักจนในที่สุดความพยายามรัฐประหารเพื่อปลดแอกภูมิภาคดอนบัส ในปี ค.ศ. 2014 ไม่ประสบความสำเร็จ และกลุ่มที่ต้องการปลดแอกจากประเทศยูเครนยังมีการปะทะทางทหารกับกองทัพยูเครนอยู่ตลอดมานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 จนถึงปัจจุบัน
ดินแดนดอนบัสประกอบไปด้วย 2 ภูมิภาคใหญ่ อันได้แก่ ภูมิภาคโดเนสต์ (Donetsk) และภูมิภาค ลูฮานสค์ (Luhansk) ซึ่งทั้งสองภูมิภาคมีการปะทะกันทางทหารนับตั้งแต่ ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา จุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับการแบ่งแยกดินแดนดอนบัสออกจากประเทศรัสเซีย คือ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ได้ประกาศอย่างเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ว่าประเทศรัสเซียจะส่งกองกำลังรัสเซียเข้าไปยังดินแดนดอนบัส และกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครน ทั้งนี้เป้าหมายที่สำคัญ คือ ยึดกรุงเคียฟ แบ่งแยกดินแดนดอนบัสออกจากประเทศยูเครนให้ได้สำเร็จ รวมไปถึงยุติการฆ่าล้างเผาพันธุ์ชาวดอนบัสจากกองทัพยูเครน ซึ่งประธานาธิบดี ปูติน ได้กล่าวหากองทัพยูเครนว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาว ดอนบัสภายในประเทศยูเครน ดังนั้นประเทศรัสเซียควรสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนดอนบัสเพื่อยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และได้เรียกการส่งกองทัพรัสเซียเข้าสู่ประเทศยูเครนว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหาร (special military operation)
สงครามระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซียได้สร้างผลกระทบต่อระเบียบโลกทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงระหว่างประเทศต่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศยุโรป ประเทศสมาชิกนาโต้ (North Atlantic Treaty Organization; NATO) รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสงครามดังกล่าว อาจทำให้ระเบียบโลกที่ใช้มานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (Status quo) ดังนั้นสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร จึงร่วมกันแสดงจุดยืนว่าการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประเทศรัสเซียได้ส่งผลกระทบต่อระเบียบโลกอย่างรุนแรง และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีรัสเซียประกาศยุติ และถอนกองทัพรัสเซียออกจากพรมแดนของประเทศยูเครน นอกจากนี้สหรัฐอเมริกา และประเทศพันธมิตร ยังได้ออกมาตรการลงโทษ (Sanction) ต่อประเทศรัสเซีย ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง เพื่อกดดันให้ประเทศรัสเซียตัดสินใจยุติสงครามในประเทศยูเครน ตัวอย่างมาตรการลงโทษของสหรัฐอเมริกา และประเทศพันธมิตร เช่น การออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประเทศรัสเซียเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศสมาชิกนาโต้ร่วมกันยุติการซื้อก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจากประเทศรัสเซีย การขับประเทศรัสเซียออกจากการเป็นประเทศสมาชิกเครือข่ายการเงินระหว่างประเทศ SWIFT เป็นต้น
นอกจากมาตรลงโทษต่าง ๆ ของประเทศพันธมิตรตะวันตกแล้ว บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่บางบรรษัทก็เข้าร่วมกับมาตรการลงโทษประเทศรัสเซียด้วยการยุติหรือปรับลดการค้าในประเทศรัสเซียลง เช่น H&M ยุติการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดใน 170 สาขาในประเทศรัสเซีย Ikea ยุติการนำเข้า และส่งออกสินค้าของบรรษัทต่อประเทศรัสเซีย Nike ประกาศยุติการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดชั่วคราวใน 117 สาขา Mars ระงับการลงทุนใหม่ในประเทศรัสเซีย Adidas ยุติการขายสินค้าออนไลน์ Hermes ยุติการจำหน่ายสินค้า และยุติกิจกรรมเชิงพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศรัสเซีย APPLE ยุติการขายสินค้าในประเทศรัสเซีย Maersk บรรษัทเดินเรือขนส่งระหว่างประเทศระงับการขนส่งสินค้าทั้งนำเข้า และส่งออกจากประเทศรัสเซีย ยกเว้นอาหาร ยา และสินค้าเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อประเทศรัสเซีย เป็นต้น
ในช่วงแรกของการดำเนินปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประเทศรัสเซียในประเทศยูเครนเต็มไปด้วยอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ การไม่มีระบบติดต่อสื่อสารระหว่างกัน กองทัพรัสเซียถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากอาวุธที่ประเทศยูเครนได้รับจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และประเทศสมาชิกนาโต้ รวมไปถึงผลจากมาตรการลงโทษของประเทศพันธมิตรตะวันตก และบรรษัทข้ามชาติ ทำให้เศรษฐกิจ และสังคมภายในประเทศรัสเซียเกิดปัญหาในช่วงขณะหนึ่ง หากแต่นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา ประเทศรัสเซียได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ตอบโต้มาตรการลงโทษของประเทศพันธมิตรตะวันตก และบรรษัทข้ามชาติต่าง ๆ และปรับเปลี่ยนยุทธวิธีทางทหารใหม่ โดยในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 2022 ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้แต่งตั้งนายพล Alexander Dvornikov ให้เป็นผู้ดูแลเรื่องกองทัพรัสเซียที่ทำการรบในประเทศยูเครนพร้อมกับการเปลี่ยนภูมิภาคเป้าหมายของการโจมตีจากเดิมที่ไปทางเหนือ เพื่อยึดเมืองหลวง และทางตะวันออกเพื่อยึดดินแดนดอนบัส มาเป็นการส่งกองทัพไปทางตะวันออก และทางใต้เพื่อเชื่อมดินแดนทางบกระหว่างประเทศรัสเซียกับแคว้นไครเมียร์ ซึ่งประเทศรัสเซียผนวกไว้แล้วในปี ค.ศ. 2014 และปิดล้อมทางออกสู่ทะเลของประเทศยูเครน ส่วนในด้านการตอบโต้มาตรการลงโทษของประเทศพันธมิตรตะวันตก ประเทศรัสเซียได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์มากระชับความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรของรัสเซียมากยิ่งขึ้น อาทิ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศเมียนมาร์ และประเทศเกาหลีเหนือ และออกมาตรการกดดันประเทศที่มิใช่พันธมิตรของประเทศรัสเซีย ตัวอย่างที่สำคัญของการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประเทศรัสเซีย คือ การย้ายตลาดการส่งออกก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจากประเทศในยุโรปมาเป็นประเทศอินเดีย และประเทศจีนแทน และบังคับให้ประเทศยุโรปที่ต้องการซื้อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติจากประเทศรัสเซียจะต้องจ่ายเงินในสกุลเงินรูเบิลเท่านั้น เป็นต้น
ในปัจจุบัน (กันยายน ค.ศ. 2022) สงครามระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซียยังไม่มีทีท่าจะสงบหรือสามารถนำทั้งสองฝ่ายมาสู่โต๊ะเจรจาได้ เนื่องจาก เจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งกันสูง นั่นคือ เรื่องของการปรับพรมแดนใหม่ และเรื่องของอำนาจอธิปไตยของประเทศยูเครนเหนือดินแดนของตนเอง
บทที่ 2 จุดยืนทางด้านนโยบายต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศจุดยืนของประเทศต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซียนับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวทางทหารของประเทศรัสเซีย โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ในการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (President of the European Commission) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และประธานาธิบดียูเครน ประเทศญี่ปุ่นแสดงจุดยืนสนับสนุนการรักษาอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศยูเครน รวมถึงการสนับสนุนมาตรการของกลุ่ม G7 ถ้าจะมีขึ้นในระยะต่อไปด้วย ทั้งนี้ ถ้าเป็นมาตรการลงโทษประเทศรัสเซีย ประเทศญี่ปุ่นจะพยายามดำเนินมาตรการดังกล่าวที่สร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้น้อยที่สุด
ภายหลังการประชุม 3 ฝ่ายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ประเทศญี่ปุ่นก็ติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซียอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยการจัดการความตึงเครียดของทั้งสองประเทศด้วยวิธีการอื่นนอกเหนือจากทางการทูตผ่านการประชุมทางโทรศัพท์กับผู้นำประเทศต่าง ๆ โดยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 มีการประชุมสุดยอดผ่านทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน นอกเหนือจากเรื่องความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังมุ่งเน้นอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศรัสเซียว่าการกระทำของประเทศรัสเซียจะต้องคำนึงถึงข้อตกลงสันติภาพระหว่างประเทศ และประชาคมระหว่างประเทศด้วย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 มีการประชุมระดับสุดยอดผ่านทางโทรศัพท์ระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ กับนายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลัฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) โดยทั้งสองประเทศมีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซีย ทั้งสองประเทศต่างไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของภูมิภาคโดเนสต์ และภูมิภาคลูฮานสค์ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และละเมิดอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศยูเครน นอกจากนี้ประเทศเยอรมนียังจะนำเรื่องความตึงเครียดระหว่างสองประเทศดังกล่าวเข้าที่ประชุมกลุ่มสมาชิก G7 อีกด้วย
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซียทวีมากยิ่งขึ้นเมื่อประเทศรัสเซียตัดสินใจส่งกองทัพจำนวนมากใกล้พรมแดนระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซีย และมีสัญญาณว่าประเทศรัสเซียเลือกที่จะส่งกองทัพรัสเซียบุกเข้าดินแดนประเทศยูเครนเพื่อสนับสนุนการประกาศเอกราชของดินแดนดอนบัส ซึ่งประกอบไปด้วยภูมิภาคโดเนสต์ และภูมิภาคลูฮานสค์ สถานการณ์ตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 ประเทศญี่ปุ่นจะมีมาตรการสนับสนุนประเทศยูเครน และมีมาตรการลงโทษต่อประเทศรัสเซีย ถ้าหากประเทศรัสเซียส่งกองทัพรัสเซียเข้าสู่พรมแดนของประเทศยูเครน รวมทั้ง ประกาศไม่ยอมรับการประกาศเอกราชของดินแดนดอนบัส และระงับการนำเข้า และส่งออกไปยังดินแดนดอนบัส นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นจะหารือร่วมกับประเทศสมาชิก G7 เพื่อออกมาตรการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซียในครั้งนี้ โดยประเทศญี่ปุ่นจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อมาตรการที่ออกจากการประชุม G7
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซียถูกพัฒนากลายเป็นสงครามระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022
จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศญี่ปุ่นได้แสดงจุดยืน “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อการดำเนินปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประเทศรัสเซียต่อประเทศยูเครนในครั้งนี้ และประเทศญี่ปุ่นจะร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา และประชาคมระหว่างประเทศในการยุติสงครามในครั้งนี้
ต่อมา เมื่อประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศสมาชิก G7 ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า การบุกรุกอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศยูเครนโดยประเทศรัสเซียนั่นเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” และประเทศญี่ปุ่นได้เน้นย้ำจุดยืนในเรื่อง “การประณามอย่างรุนแรง” ต่อประเทศรัสเซียในกรณีนี้ นอกจากนี้แล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังตัดสินใจเข้าร่วมในการดำเนินมาตรการแทรกแซงต่อสงครามยูเครน-รัสเซียร่วมกับสหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิกลุ่ม G7 รวมไปถึงชาติพันธมิตรในยุโรป และในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2022 นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้แถลงการณ์ย้ำจุดยืนของประเทศญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซียผ่านคลิปวีดิโอว่า ประเทศญี่ปุ่นมีจุดยืนต่อต้าน “การกระทำอย่างก้าวร้าว” ของประเทศรัสเซียต่อประเทศยูเครน โดยเฉพาะพลเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามในครั้งนี้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการลงโทษต่อประเทศรัสเซียตามมติร่วมกันของกลุ่มประเทศสมาชิก G7
สำหรับกรณีสังหารหมู่ที่เมืองบูชา (Bucha) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ เมืองหลวงของประเทศยูเครน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ได้แสดงจุดยืนของประเทศญี่ปุ่นต่อกรณีดังกล่าวผ่านการแถลงข่าวว่า ประเทศญี่ปุ่น “ประณาม” ประเทศรัสเซียในฐานะที่เป็นประเทศที่มีส่วนรู้เห็น และเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ในครั้งนี้ นอกจากนี้แล้วนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ยังกล่าวว่าการสังหารหมู่โดยประเทศรัสเซียในครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับการทำ “อาชญากรรมสงคราม” ทั้งนี้เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองบูชาในครั้งนี้ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือนที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามระหว่างประเทศยูเครนกับประเทศรัสเซีย
บทที่ 3 การดำเนินมาตรการทางด้านนโยบายต่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นต่อกรณีสงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022
ในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2022 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกแผนในการดำเนินมาตรการต่างๆ ต่อเหตุการณ์สงครามยูเครน-รัสเซีย โดยมีชื่อแผนว่า “ประเทศญี่ปุ่นยืนเคียงข้างประเทศยูเครน” หรือ “JAPAN STANDS WITH UKRAINE” ซึ่งต่อมาแผนการดังกล่าวมีการปรับปรุงในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2022 เพื่อให้การดำเนินมาตรการของประเทศญี่ปุ่นสอดคล้อง และเหมาะสมกับบริบทในสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป แผนประเทศญี่ปุ่นยืนเคียงข้างประเทศยูเครนมีทั้งหมด 6 ส่วนหลักด้วยกัน อันได้แก่
- ส่วนที่ 1 การให้ความช่วยเหลือต่อชาวยูเครน (Assistance to the people of Ukraine)
- จัดหาโดรน เสื้อเกราะกันกระสุน หมวก เสื้อลายพรางทางทหารสำหรับฤดูหนาว เต็นท์ กล้อง ผลิตภัณฑ์อนามัย กล้องส่งทางไกล อุปกรณ์ให้ความสว่าง ความช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ให้แก่ประเทศยูเครน
- จัดหาความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นจำนวน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในด้านมนุษยธรรม (สุขภาพ และการดูแลทางการแพทย์ อาหาร และการป้องกัน) และเบิกจ่าย 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไม่ได้ระบุเป้าหมาย และความช่วยเหลือทางทหาร 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- จัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินต่อประเทศยูเครนเป็นจำนวน 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- การเสนอต่อวีซ่าให้แก่ชาวยูเครนที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น
- เปิดรับผู้อพยพจากประเทศยูเครนมายังประเทศญี่ปุ่น
- การให้ความช่วยเหลือแก่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในการขนส่งสิ่งของช่วยเหลือทางอากาศ โดยมีกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (JSDF) เป็นผู้อำนวยความสะดวก นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือในทางการแพทย์ สุขภาพ และอื่น ๆ ให้แก่ผู้ลี้ภัยในพื้นที่
- ส่วนที่ 2 มาตรการทางการเงิน (Financial measures)
- ป้องกันไม่ให้ประเทศรัสเซียจัดหาเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำ ซึ่งรวมไปถึง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนายุโรป (European Bank for Reconstruction and Development)
- ตอบสนองต่อการหลบเลี่ยงการคว่ำบาตรของประเทศรัสเซีย รวมถึงผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล
- จำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับธนาคารกลางรัสเซีย
- การลงโทษด้วยการอายัดทรัพย์สินบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลประเทศรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงประธานาธิบดีรัสเซีย วราดิเมีย ปูติน และผู้ที่มีอำนาจในทางธุรกิจ
- การอายัดทรัพย์สินของธนาคารสัญชาติรัสเซียทั้งหมด 11 ธนาคาร อันได้แก่ Sberbank, Alfa-Bank, VEB.RF, Promsvyazbank, Bank Rossiya, VTB Bank, Sovcombank, Novicombank, Bank Otkritie, Credit Bank of Moscow and Russian Agricultural Bank (Rosselkhozbank) และบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น
- เข้าร่วมการโดดเดี่ยวประเทศรัสเซียจากระบบการเงินระหว่างประเทศ และระบบเศรษฐกิจโลก เช่น การขับธนาคารสัญชาติรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เป็นต้น
- ห้ามการออกหรือทำธุรกรรมกับหนี้สาธารณะของประเทศรัสเซียทั้งในตลาดหลัก และตลาดรอง นอกจากนี้ สำหรับธนาคารสัญชาติรัสเซียบางแห่ง จะถูกห้ามมิให้ทำการออก และเสนอขายหลักทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่น
- ออกมาตรการแนะนำการระงับการลงทุนใหม่ในประเทศรัสเซีย
- ห้ามให้บริการบางอย่างแก่ประเทศรัสเซีย รวมถึงบริการทรัสต์ และบริการบัญชี
- ส่วนที่ 3 มาตรการทางการค้า (Trade measures)
- ประเทศญี่ปุ่นถอนสถานะ “most-favoured-nation” ของประเทศรัสเซีย
- ไม่อนุญาตนำเข้าเครื่องจักร ไม้บางประเภท วอดก้า ทองคำ และอื่น ๆ
- ไม่อนุญาตส่งออกสินค้าหรูหรา
- กำหนดมาตรการลงโทษ
- การส่งออกยุทธภัณฑ์ทางทหารให้แก่บริษัทสัญชาติรัสเซีย
- การส่งออก
- การควบคุมสินค้าตามรายชื่อในข้อตกลงระหว่างประเทศ
- สินค้าอื่น ๆ ที่ใช้ได้ทั้งกิจการพลเรือน และกิจการกองทัพ (dual-use goods) เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (semiconductors) เป็นต้น
- สินค้าที่ทันสมัย (cutting-edge products)
- อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นปิโตรเลียม และอื่น ๆ และ
- สินค้าที่ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมรัสเซีย ลดการพึ่งพิงพลังงานจากประเทศรัสเซีย ซึ่งรวมไปถึงการเลิกใช้ และการระงับการนำเข้าน้ำมัน และถ่านหินจากประเทศรัสเซีย
- ส่วนที่ 4 มาตรการทางวีซ่า (Visa measures)
- ระงับการให้วีซ่าแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเทศรัสเซีย
- ส่วนที่ 5 ประเทศเบลารุส (Belarus)
- อายัดทรัพย์สินธนาคารสัญชาติเบลารุสจำนวน 4 ธนาคาร อันได้แก่ Belagroprombank, Bank Dabrabyt, Development, Bank of the Republic of Belarus and Belinvestbank และบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินกิจการในประเทศญี่ปุ่น
- ระงับการออกวีซ่าให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับประเทศเบลารุสที่ต้องการเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น
- กำหนดมาตรการลงโทษโดยการอายัดทรัพย์สินบุคคล และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับประเทศเบลารุส ซึ่งรวมไปถึง ประธานาธิบดีเบลารุส อาเลียกซันดร์ ลูกาแชนกา (Lukashenko)
- กำหนดมาตรการลงโทษการการส่งออกยุทธภัณฑ์ทางทหาร และการส่งออกสินค้าควบคุมตามรายชื่อของข้อตกลงระหว่างประเทศ และสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้ได้ทั้งกิจการพลเรือน และกิจการกองทัพ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์
- ส่วนที่ 6 สาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ (Donetsk People's Republic) และสาธารณรัฐประชาชน ลูฮานสค์ (Luhansk People's Republic)
- ระงับการออกวีซ่าให้แก่พลเมืองสาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์ที่ต้องการขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น และอายึดทรัพย์สินชาวโดเนสต์ และลูฮานสค์ที่มีทรัพย์สินในประเทศญี่ปุ่น
- ไม่อนุญาตนำเข้า และส่งออกสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ (Donetsk People's Republic) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์ (Luhansk People's Republic)
บทที่ 4 บทสรุป
สงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022 ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ท้าทายระเบียบโลกทางด้านการเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศ (World order) ที่ดำรงอยู่มานับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามดังกล่าวได้สร้างผลกระทบทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงต่อประเทศต่าง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีจุดยืน และแนวนโยบายในการตอบสนองต่อสงครามในครั้งนี้แตกต่างกัน สำหรับจุดยืน และแนวนโยบายในการตอบสนองต่อสงครามในครั้งนี้ของประเทศญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อประเทศรัสเซียในฐานะประเทศที่รุกรานอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศยูเครน ประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินแนวนโยบายลงโทษ (sanction) ต่อประเทศรัสเซียทั้งในรูปแบบการกระทำฝ่ายเดียว และในรูปแบบหลายฝ่ายร่วมกับประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญของประเทศญี่ปุ่นในการดำเนินแนวนโยบายในลักษณะลงโทษต่อประเทศรัสเซียในสงครามยูเครน-รัสเซีย นั่นคือ การยุติสงคราม และการถอนกองกำลังรัสเซียทั้งหมดออกจากดินแดนประเทศยูเครน
สงครามยูเครน-รัสเซีย ค.ศ. 2022 นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการท้าทายระเบียบโลกทางด้านการเมือง และความมั่นคงระหว่างประเทศแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า “สงคราม” เป็นสิ่งที่ “เกิดขึ้นได้เสมอ” และ “ไม่สามารถทำนายได้” ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศต่าง ๆ พยายาม ที่จะสร้าง และพัฒนาศักยภาพทางทหารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตอบโต้ภัยคุกคาม และความขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน นอกเหนือจากความขัดแย้งทางด้านพรมแดนกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ ประเทศรัสเซีย ประเทศจีน และประเทศเกาหลีใต้แล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังเผชิญกับภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ๆ อาทิ การโจมตีทางไซเบอร์ (cyber attack) หรือการแข่งขันพัฒนาศักยภาพทางด้านอวกาศ (space war) รวมถึงความจำเป็นที่ต้องพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาทางด้านความมั่นคงด้วย ดังนั้นเพื่อให้ประเทศสามารถตอบสนองต่อความขัดแย้ง และภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ประเทศญี่ปุ่นโดยรัฐบาลปัจจุบัน จึงพยายามที่จะสร้าง และพัฒนาศักยภาพทางการทหารให้แก่กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นทั้งในส่วนของกองกำลัง (Japan Self Defence Force ) และในส่วนของยุทธภัณฑ์ทางทหารเพื่อให้สามารถปฏิบัติการได้หลากหลาย และมีความยืนหยุ่นในการตอบสนองต่อความขัดแย้ง และภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
บรรณานุกรม
Beauchamp, Z. (2022, April 22). Russia’s offensive in the Donbas can’t make up for its failure in Kyiv. Retrieved from VOX: https://www.vox.com/policy-and-politics/2022/4/22/23034480/russia-donbas-new-phase-war-ukraine-explained
Cabinet, P. M. (2022, May 11). Japan’s Response to Russia's Aggression against Ukraine. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202205/_00009.html
Cabinet, P. M. (2022, February 25). Press Conference by the Prime Minister. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202202/_00013.html
Cabinet, P. M. (2022, February 17). Press Conference by the Prime Minister regarding a Summit Telephone Talk with Russian President Vladimir Putin. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202202/_00006.html
Cabinet, P. M. (2022, February 15). Press Conference by the Prime Minister regarding Telephone Talks with Dr. von der Leyen, President of the European Commission, and Mr. Zelenskyy, President of Ukraine. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202202/_00003.html
Cabinet, P. M. (2022, February 24). Press Conference by the Prime Minister regarding the Content of Discussions by the National Security Council, Which Convened regarding the Situation in Ukraine. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202202/_00010.html
Cabinet, P. M. (2022, February 24). Press Conference by the Prime Minister regarding the Situation in Ukraine. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202202/_00009.html
Cabinet, P. M. (2022, February 23). Press Conference on Sanctions and Other Measures in Light of the Situation in Ukraine. Retrieved from Prime Minister of Japan and His Cabinet: https://japan.kantei.go.jp/101_kishida/statement/202202/_00011.html
Companies Are Getting Out of Russia, Sometimes at a Cost. (2022, July 5). Retrieved from The New York Times: https://www.nytimes.com/article/russia-invasion-companies.html
Conflict in Ukraine’s Donbas: A Visual Explainer. (n.d.). Retrieved from International Crisis Group: https://www.crisisgroup.org/content/conflict-ukraines-donbas-visual-explainer
Council, S. (2022, February 23). Russian Federation Announces ‘Special Military Operation’ in Ukraine as Security Council Meets in Eleventh-Hour Effort to Avoid Full-Scale Conflict. Retrieved from United Nations: https://press.un.org/en/2022/sc14803.doc.htm
Japan condemns Russia for Bucha massacre, calls it a ‘war crime’ . (2022, April 4). Retrieved from The Asahi Shimbun: https://www.asahi.com/ajw/articles/14590019
Japan, M. o. (2022, February 22). Japan-Germany Summit Telephone Talk. Retrieved from Ministry of Foreign Affair of Japan: https://www.mofa.go.jp/erp/c_see/de/page1e_000376.html
Japan, T. G. (2022, June 30). JAPAN STANDS WITH UKRAINE. Retrieved from The Government of Japan: https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwjdvquhi4P6AhUm9zgGHZUqDMMQFnoECAcQAQ&url=https%3A%2F%2Fjapan.kantei.go.jp%2Fongoingtopics%2Fpdf%2Fjp_stands_with_ukraine_eng.pdf&usg=AOvVaw1AtNVucZrCTokGeiZ6CU0M
Natasha Bertrand, K. B. (2022, May 3). Putin may soon officially declare war on Ukraine, US and Western officials say. Retrieved from CNN: https://edition.cnn.com/2022/05/03/europe/russia-ukraine-declaration-of-war-intl-hnk-ml/index.html
Russia to formally annex four occupied Ukrainian regions. (2022, September 22). Retrieved from Aljazeera: https://www.aljazeera.com/news/2022/9/29/russia-to-formally-annex-four-occupied-ukrainian-regions
Tarar, A. (2022, April 9). BBC: Putin replaces military commander in Ukraine – The Moscow Times. Retrieved from Hindustan News Hub: https://hindustannewshub.com/russia-ukraine-news/bbc-putin-replaces-military-commander-in-ukraine-the-moscow-times/
Ukraine Says 2nd Phase Of War Started As Russia Launches Attack In East . (2022, April 9). Retrieved from NDTV: https://www.ndtv.com/world-news/ukraine-says-2nd-phase-of-war-started-as-russia-launches-attack-in-east-2899270
Ukraine: Putin announces special military operation in TV declaration. (2022, February 24). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/av/world-60505319
รัสเซลล์ ฮอตเทน. (27 กุมภาพันธ์ 2565). ยูเครน รัสเซีย : Swift คืออะไร เศรษฐกิจโลกสะเทือนไหม เมื่อตัดแบงก์รัสเซียออกจากระบบ. เข้าถึงได้จาก BBC NEWS: https://www.bbc.com/thai/
รัสเซียซ้อมรบนิวเคลียร์แล้ว ผู้นำเบลารุสเคียงข้างปูติน. (2565 กุมภาพันธ์ 19). เข้าถึงได้จาก ประชาชาติ: https://www.prachachat.net/world-news/news-869214