NEWS ニュース

11 ปี 11 มี.ค. 2011 มหาภัยพิบัติ 3 ประการ ในภูมิภาคโทโฮกุกับปัญหาที่ภาครัฐยังไม่สามารถจัดการได้

1,664 views

11 ปี 11 มี.ค. 2011 มหาภัยพิบัติ 3 ประการ ในภูมิภาคโทโฮกุกับปัญหาที่ภาครัฐยังไม่สามารถจัดการได้

บทความโดย กฤชวัฒน์ วัฒนคำแสง
ผู้ช่วยนักวิจัยประจำโครงการ JWP 

 

  1. เหตุการณ์ และผลกระทบอันเนื่องมาจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว สึนามิ และภัยพิบัตินิวเคลียร์ในจังหวัด      ฟูกูชิมะ ภูมิภาคโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 เวลา 14.46 นาฬิกาตามเวลามาตรฐานญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 มาตราแมกนิจูด โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากเมืองเซนได (Sendai) จังหวัดมิยากิ (Miyagi) ทางตะวันออกประมาณ 130 กิโลเมตร[1]  ซึ่งห่างจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ประมาณ 97 กิโลเมตร[2] แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ครั้งแรกได้ส่งผลทำให้จังหวัดต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหวใหญ่ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ต่อมาไม่กี่นาทีได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ซ้ำโดยมีขนาด 8.9 มาตราแมกนิจูด การไหวครั้งที่สองนี้ส่งผลให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ถล่มในหลายเมืองในจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นซึ่งรวมไปถึงจังหวัดฟูกูชิมะที่มีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ตั้งอยู่ในเมืองโอคุมะ (Okuma) จังหวัดฟูกูชิมะ ภูมิภาคโทโฮกุ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิประกอบไปด้วยโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ย่อยทั้งหมด 6 โรงงาน ตั้งอยู่บริเวณริมทะเลฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น และบริหารโดยบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียวหรือ “Tokyo Electric Power Company; TEPCO” ทั้งหมด

ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งสาม ได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ในวันที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งสองโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิแห่งที่ 1, 2 และ 3 ได้เปิดทำงาน ในขณะที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิแห่งที่ 4, 5 และ 6 มิได้มีการทำงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้น ระบบหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถูกปรับมาใช้พลังงานจากเครื่องปั่นไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของแกนกลาง เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

หากแต่สถานการณ์การจัดการกับระบบหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีปัญหาอีกครั้ง เนื่องจาก สึนามิขนาดใหญ่ที่มีความสูงมากกว่า 14 เมตร ในขณะที่กำแพงป้องกันคลื่นสูงเพียง 5.7 เมตรไม่สามารถป้องกันคลื่นสึนามิได้ และคลื่นสึนามิได้เข้าท่วม โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิแห่งที่ 1-4 โดยตรง ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นที่ใช้เครื่องปั่นไฟฟ้าพลังงานน้ำมันไม่สามารถทำงานได้  ทำให้อุณหภูมิของแกนกลางเตาปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การหลอมละลายของแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 3 แกนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไอดิจิแห่งที่ 1[3]  และการระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิแห่งที่ 1, 3 และ 4[4]  ตามมา ส่งผลให้กัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายทั้งทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งนี้บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ในฐานะผู้ดูแลโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการสูบน้ำทะเลมาใช้เพื่อหล่อเย็น และควบคุมอุณหภูมิแกนกลางเตาปฏิกรณ์ไม่ให้เกิดการละลาย ซึ่งปัจจุบันบริษัทพลังงานไฟฟ้า โตเกียว (TEPCO) ใช้น้ำทะเลเพื่อหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากกว่า 1 ล้านตัน[5]  น้ำทะเลที่ถูกนำมาใช้หล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้วจะถูกจัดเก็บในแท็งก์น้ำเหล็กขนาดใหญ่มากกว่า 1,000 ถัง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะปรับค่ากัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำให้ลดลง และปล่อยคืนสู่ทะเลได้โดยไม่ก่อมลพิษให้แก่ธรรมชาติ และสัตว์น้ำในบริเวณนั้น

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งสามส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต และสูญหายจำนวน 18,500 คน มีการอพยพประชากรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะออกจากพื้นที่ จำนวน 470,000 คน[6] นอกจากนี้แล้วประชากรส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงทันทีจากเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะด้วย เช่น มีประชากรเสียชีวิต 1 ราย ด้วยโรคมะเร็งอันเนื่องมาจากการรับสารกัมมันตภาพรังสีมากจนเกินไป มีผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวน 40 ราย และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดของไฮโดรเจนจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 13 ราย[7]

รูปภาพที่ 1: รูปภาพแสดงที่ตั้งของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิทั้งหมด 6 โรงงาน

ที่มา: Aerial view of the station in 1975, showing separation between units 5 and 6, and 1–4. Unit 6, not completed until 1979, is seen under construction. (n.d.). Retrieved from Wikipedia:https://en.wikipedia.org/wiki/Fukushima_nuclear_disaster#/media/File:Fukushima_I_NPP_1975_medium_crop_rotated_labeled.jpg

ภายหลังที่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกูชิมะ ภูมิภาคโทโฮกุ ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลญี่ปุ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รัฐสภาญี่ปุ่นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสืบสวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลของการสอบสวนปรากฏในรายงานสรุปว่า    ภัยพิบัตินิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกูชิมะ ภูมิภาคโทโฮกุ เป็น “ภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างแท้จริง” (a profoundly man-made disaster) และได้เสนอให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO)  ทั้งหมด 3 คน ได้แก่ Tsunehisa Katsumat, Ichiro Takekuro and Sakae Muto อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 ศาลได้ตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งสามคนไม่มีความผิด นอกจากนี้ ศาลยังได้สั่งให้รัฐบาลญี่ปุ่นจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่อพยพออกจากพื้นที่[8]

ตารางที่ 1 สาเหตุของการเสียชีวิตในเหตุการณ์ภัยพิบัติทั้งสามในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011

Major causes of disaster-related death

All three
prefectures

Fukushima
Prefecture

Ratio

Physical and psychological exhaustion through evacuation life

683

433

63.3

Physical and psychological exhaustion through travelling to evacuation area

401

380

94.8

Worsening of pre-existing illnesses due to dysfunction of
hospitals or hospital transfer

283

186

65.7

Physical and psychological stress due to earthquake and tsunami

150

38

25.3

Delay in initial treatment due to dysfunction of hospital

90

51

56.7

Physical and psychological stress due to nuclear accident

34

34

97.1

Delay in initial treatment due to traffic conditions

17

17

23.5

ที่มา: Hayakawa, M. (2016). Increase in disaster-related deaths: risks and social impacts of evacuation. ICRP, 123-128. Retrieved from National Library of Medicine: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27703057/

  1. ปัญหาการจัดการน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีอันเนื่องมาจากการรักษาระดับอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ในจังหวัดฟูกูชิมะ ภูมิภาคโทโฮกุ

ในปัจจุบันบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้ใช้ระบบหล่อเย็นด้วยการใช้น้ำเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งที่ 1-4 เพื่อไม่ให้แกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย โดยตามแผนแล้ว บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency; IAEA) จะเริ่มมีการปล่อยน้ำที่นำมาใช้ในระบบหมุนเวียนเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์คืนสู่ทะเลภายในปี ค.ศ. 2023[9]  จนถึง ค.ศ. 2050[10]  ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมที่จะเริ่มปล่อยน้ำคืนสู่ทะเลในปี ค.ศ. 2022[11]  ทั้งนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่น บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO)  IAEA และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ยืนยันว่าน้ำที่ใช้ในการหมุนเวียนเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิของแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีระดับการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีที่ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด และไม่ก่อมลพิษให้แก่สภาพแวดล้อม ประชาชนที่อาศัย และสัตว์ทะเล หากแต่แผนการปล่อยน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็นของบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ที่จะเริ่มปล่อยในปี ค.ศ. 2023 ก็ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงทั้งจากประเทศที่มีพรมแดนทางทะเลใกล้เคียงกันอย่างประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และประเทศจีน จากองค์กรเอกชนระหว่างประเทศต่าง ๆ และจากประชาชนภายในประเทศ

ท่าทีของประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจีน และไต้หวันทั้งในระดับรัฐ และระดับประชาชน และรวมไปถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มในประเทศญี่ปุ่นต่อปฏิบัติการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไฟกูชิมะไดอิจิลงทะเลมีท่าทีที่สอดคล้องกัน นั่นคือ “การคัดค้านปฏิบัติการของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้” โดยให้ความเห็นว่า การปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นมีธาตุกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สภาพแวดล้อม และสัตว์ทะเลในระยะยาว ตัวอย่างท่าที และกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการคัดค้านความพยายามในการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไฟกูชิมะไดอิจิลงทะเล ได้แก่

  1. โจแอน อู (Joanne Ou) โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศ ไต้หวัน ได้กล่าวอย่างเป็นทางการในเรื่องความพยายามของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไฟกูชิมะไดอิจิลงทะเลว่า “กระทรวงการต่างประเทศจะคอยสังเกตความเป็นกังวลต่อไต้หวันในอนาคต และติดตามการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นได้แจ้งให้เรา (ไต้หวัน) ทราบก่อนที่จะตัดสินใจอย่างเป็นทางการ และได้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันรังสี (international Commission on Radiological Protection; ICRP) เพื่อเจือจาง กรอง ทำให้บริสุทธิ์ก่อนปล่อย และเพื่อให้ข้อมูลแก่สังคมระหว่างประเทศ”[12]
  2. วันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 2021 จ้าว ลี่เจี่ยน (Zhao Lijian) โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า “เป็นการแสดงออกถึงการขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง” (extremely irresponsible) ของประเทศญี่ปุ่น[13]  นอกจากนี้ยังมีการแถลงเพิ่มเติมอีกว่า “องค์การระหว่างประเทศที่มีอำนาจ และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการปล่อยน้ำที่มีการปนเปื้อนของ tritium จากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์     ฟูกูชิมะลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และสุขภาพของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน”
  3. วันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 2021 นักศึกษามหาวิทยาลัยโซล กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้จัดกิจกรรมตัดผมหน้าสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศเกาหลีใต้เพื่อประท้วงความพยายามของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไฟกูชิมะไดอิจิลงทะเล
  4. วันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 กลุ่มเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อม ประเทศเกาหลีใต้ได้จัดกิจกรรมต่อต้านการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์       ฟูกูชิมะไดอิจิลงทะเลหน้าสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศเกาหลีใต้[14]
  5. ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2021 รัฐบาลเกาหลีใต้แถลงอย่างเป็นทางการต่อความพยายามของประเทศญี่ปุ่นที่ต้องการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิลงทะเลว่า “พวกเราแสดงท่าทีเป็นกังวลต่อความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมจากสิ่งที่จะปล่อยออกมา”[15]
  6. นายคันจิ ตาชิยะ (Kanji Tachiya) ผู้ซึ่งเป็นประธานกลุ่มความร่วมมือระหว่างชาวประมงท้องถิ่นในจังหวัดฟูกูชิมะ ได้แสดงความเห็นว่า “พวกเขา (รัฐบาลญี่ปุ่น และบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว) ได้แจ้งให้แก่ชาวประมงทราบว่าจะไม่มีการปล่อยน้ำที่ใช้ในระบบการหล่อเย็นเพื่อรักษาระดับอุณหภูมิแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนกว่าจะได้รับการสนับสนุนจากชาวประมงท้องถิ่น”[16]

 

รูปภาพที่ 2 ค่าระดับกัมมันตภาพรังสี millisievert (mSv) ที่มีผลต่อร่างกาย

ที่มา: Fukushima nuclear disaster , effects of radiation and maps of radiation readings. (2011, June 25). Retrieved from Noor’s List: https://noorslist.wordpress.com/tag/japan/

ตัวอย่างองค์กรเอกชนระหว่างประเทศที่แสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไฟกูชิมะไดอิจิ ได้แก่ องค์กรกรีนพีซ (Greenpeace) ภายในปี ค.ศ. 2020 องค์กรกรีนพีซได้ออกรายงานการศึกษาเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี และมลพิษอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ ชื่อว่า “The reality of the Fukushima radioactive water crisis” ซึ่งรายงานดังกล่าวนี้ได้ระบุว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีการปนเปื้อนธาตุ strontium-90 carbon-14 และกัมมันตภาพรังสีอื่น ๆ ที่มีโอกาสทำให้ผู้ที่ได้รับเป็นโรคมะเร็งในอนาคต ซึ่งข้อมูลของรายงานฉบับนี้ขัดแย้งกับข้อมูลในรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่น บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว และ IAEA ที่ระบุว่าน้ำที่ใช้หล่อเย็นนั้นถูกปรับสภาพให้มีความปลอดภัย และไม่ทำให้ผู้ที่ได้รับมีโอกาสเป็นมะเร็ง และไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ทั้งสามหน่วยงานยังกล่าวว่า น้ำที่ใช้หล่อเย็นที่จะปล่อยคืนสู่ทะเลนั้นมีแค่ธาตุ tritium และอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด นอกเหนือจากการถกเถียงเรื่องธาตุที่ปนเปื้อนในน้ำที่จะปล่อยคืนสู่ทะเลแล้ว รายงานฉบับนี้ได้ตั้งข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการกัมมันตภาพรังสี และมลพิษโดยรอบโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. การปนเปื้อนธาตุกัมมันตภาพรังสีของน้ำบาดาลโดยเฉพาะโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์   ฟูกูชิมะไดอิจิแห่งที่ 1 ข้อมูลจากรายงานระบุว่าธาตุ corium อันเกิดมาจากการหลอมละลายของแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ส่งผลให้น้ำบาดาลโดยรอบในพื้นที่มีการปนเปื้อนธาตุ กัมมันตภาพนี้ด้วยเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่ามีน้ำบาดาลปนเปื้อนธาตุ corium มากกว่า 500,000 ตัน และจะเพิ่มจำนวนเป็น 1 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030
  2. การไม่ให้ความสำคัญกับน้ำที่มีการปนเปื้อนธาตุ carbon-14 และธาตุ tritium ซึ่งธาตุทั้งสองถือได้ว่ามีความสำคัญในฐานะที่สร้างผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับ และสิ่งแวดล้อม รายงานฉบับนี้ของกรีนพีซได้เขียนวิจารณ์ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลการปนเปื้อนของน้ำที่จะปล่อยคืนสู่ทะเลอย่างครบถ้วน โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ การไม่เปิดเผยว่าระบบ The Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งเป็นระบบขจัดธาตุกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำออกนั้นไม่สามารถขจัดธาตุ carbon-14  และธาตุ tritium ซึ่งเป็นธาตุที่อันตรายต่อร่างกาย และสภาพแวดล้อมได้ ภาครัฐเพียงแต่บอกว่ามีธาตุเดียวเท่านั้นที่ไม่สามารถขจัดได้ นั่นคือ tritium  และยังระบุว่าธาตุดังกล่าวมีการปนเปื้อนในน้ำน้อยกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ ในบางครั้งที่มีการตรวจแท็งก์น้ำก็จะพบธาตุที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม เช่น ธาตุ strontium-90 อีกด้วย
  3. ระบบ The Advanced Liquid Processing System (ALPS)  มีข้อบกพร่อง บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้เลือกให้ Toshiba and Hitachi General Nuclear Electric (HGNE) เป็นผู้ดำเนินการระบบ ALPS ในการขจัดกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำออกให้หมดแทนที่จะใช้ระบบเทคโนโลยีแลกเปลี่ยนไอออน (ion exchange technology) ที่ถูกเสนอโดยสหรัฐอเมริกา องค์กรกรีนพีซตั้งข้อสงสัยต่อทั้งระบบการขจัดกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำ และผู้ดำเนินการระบบ ALPS กล่าวคือ องค์กรกรีนพีซตั้งข้อสงสัยว่าทำไมบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียวจึงเลือกระบบ ALPS ซึ่งมีประสิทธิภาพในการขจัดธาตุปนเปื้อนได้น้อยกว่าเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา และตั้งข้อสงสัยว่าทำไมบริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียวจึงเลือกโตชิบา และฮิตาชิ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการขจัดธาตุกัมมันภาพรังสีที่ปนเปื้อนออกจากน้ำมาเป็นผู้ดำเนินการระบบในครั้งนี้[17]

กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะได้รับการรองรับจาก IAEA ว่าสามารถปฏิบัติการปล่อยน้ำที่ใช้ในกระบวนการหล่อเย็นแกนกลางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิได้ เนื่องจาก ระดับกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สภาพแวดล้อม และสัตว์ทะเลภายในบริเวณนั้น หากแต่หลายประเทศที่มีพรมแดนทางทะเลติดกับประเทศญี่ปุ่น และองค์กรเอกชนระหว่างประเทศอย่างกรีนพีซก็แสดงท่าทีคัดค้านปฏิบัติการดังกล่าวของญี่ปุ่นในครั้งนี้ โดยให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นไม่มีความรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบบการตรวจประเมินคุณภาพของการปนเปื้อนของธาตุกัมมันตภาพรังสีไม่น่าเชื่อถือ และมีการปิดบังข้อมูลบางประการ รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลต่อมนุษย์ สภาพแวดล้อม และสัตว์น้ำในอนาคต

  1. บทสรุป และนัยสำคัญต่อประเทศไทย

“ทะเล” หรือ “มหาสมุทร” ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของทุกประเทศ มิใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นการจัดการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “ทะเล” หรือ “มหาสมุทร” อาทิ การจัดการน้ำ การจัดการทรัพยากรในน้ำ การจัดสรรการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลหรือมหาสมุทร จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายระหว่างประเทศเป็นบรรทัดฐานสำหรับกำกับการแสวงหาผลประโยชน์จากทะเลหรือมหาสมุทรต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันก็มี “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล” หรือ “United Nations Convention on the Law of the Sea” ทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานของการใช้ทรัพยากรทางทะเลหรือมหาสมุทรระหว่างประเทศ

เมื่อนำเรื่องการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และการไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของทรัพยากรที่มีร่วมกันอย่างทะเลหรือมหาสมุทรมาเชื่อมโยงกับการปล่อยน้ำที่ใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของประเทศญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่า การที่ประเทศต่างๆ  ที่ใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกับประเทศญี่ปุ่น อันได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศจีน และไต้หวัน ต่างก็มีข้อสงสัยต่อความปลอดภัย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลโดยรวม และรวมไปถึงมนุษย์ด้วยนั้น  ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากการจัดการปล่อยน้ำที่ใช้หล่อเย็น เป็นผลมาจากการที่ประเทศญี่ปุ่นมองแค่เพียงว่าการปล่อยน้ำที่เคยใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อยู่ในขอบเขตทะเลของประเทศญี่ปุ่น และเป็นเรื่องการจัดการภายในประเทศของญี่ปุ่นเอง จึงมิได้เชิญประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในปฏิบัติการปล่อยน้ำที่เคยใช้หล่อเย็นลงสู่ทะเลดังกล่าว ส่งผลให้แต่ละประเทศก็มีข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศที่ใช้ทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน อันนำไปสู่ความไม่พอใจซึ่งกันและกัน และความหวาดระแวงในระดับระหว่างประเทศทั้งในภาครัฐ ภาคประชาชน รวมไปถึงภาคประชาสังคม

เมื่อนำสองประเด็นข้างต้นเชื่อมโยงกับสถานการณ์การใช้ประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าประเทศไทยมักจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นในขอบเขตน่านน้ำของไทยที่อาจจะส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ที่แสวงหาผลประโยชน์จากทะเลหรือมหาสมุทรเป็นระยะ เช่น ปัญหาขยะในทะเล ปัญหาคราบน้ำมัน และสารเคมีอันเกิดมาจากการรั่วไหลจากภาคอุตสาหกรรม การปล่อยน้ำที่ไม่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนลงสู่ทะเลของภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น แม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรฐานการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมอย่าง “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. ๒๕๖๐” หรือ “มาตรฐาน และตัวชี้วัดในการจัดการมลพิษทางน้ำ กรมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย” หากแต่ปัญหาการปล่อยน้ำเสีย และของเสียลงสู่ทะเลก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ทั้งนี้ปัญหาเกิดจากศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียของท้องถิ่นไม่เพียงพอ กรณีตัวอย่างเช่น กรณีเมืองพัทยาที่ต้องรองรับน้ำเสียเพื่อบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ทะเลมากกว่า 80,000 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ระบบบำบัดมีศักยภาพรองรับได้เพียง 65,000 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น[18] และเกิดจากการละเมิดมาตรฐานการปล่อยน้ำเสีย และของเสียที่รัฐกำหนดไว้ทั้งในภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม กรณีตัวอย่างเช่น จากข้อมูลปี ค.ศ. 2013 ประเทศไทยมี “ขยะทะเล” สะสมมากกว่า 10.78 ล้านตัน ซึ่งขยะเหล่านี้ล้วนมาจากการละเลยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และละเมิดมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด[19]

          การจัดการกับปัญหาการปล่อยน้ำเสีย และของเสียลงสู่ทะเล จำเป็นที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมทั้งในระดับภาครัฐไปจนถึงภาคประชาชน รวมไปถึงสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคที่เผชิญปัญหาเช่นเดียวกันเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ทั้งนี้เพราะ ทะเล และทรัพยากรทางทะเลเป็นสิ่งที่ทุก ๆ ประเทศ ทุก ๆ คนต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน 

 

เชิงอรรถ

[1] Pletcher, K. (2022, April 22). Japan earthquake and tsunami of 2011. Retrieved from Britannica: https://www.britannica.com/event/Japan-earthquake-and-tsunami-of-2011

[2] Fukushima disaster: What happened at the nuclear plant? (2021, March 10). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695

[3] Free temporary housing for Fukushima evacuees to mostly end in March '20. (2018, August 28). Retrieved from the mainichi: https://mainichi.jp/english/articles/20180828/p2a/00m/0na/008000c

[4] Luangdilok, W. (2020). The explosions at Fukushima Daiichi Unit 3 and Unit 4 and implications on the evaluation of 1F3 accident. Nuclear Engineering and Design, 1-10.

[5] Why Japan will release contaminated water from Fukushima into the ocean. (2021, June 4). Retrieved from Lifegate: https://www.lifegate.com/fukushima-water-release-safecast

[6] Fukushima disaster: Nuclear executives found not guilty. (2019, September 19). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/world-asia-49750180

[7] Ibid.

[8] Ibid.

[9] IAEA, Japan Agree on Timeline for Safety Review of Water Release at Fukushima Daiichi. (2021, September 09). Retrieved from IAEA: https://www.iaea.org/newscenter/pressreleases/iaea-japan-agree-on-timeline-for-safety-review-of-water-release-at-fukushima-daiichi

[10] Burnie, S. (2020). The reality of the Fukushima radioactive water crisis. Greenpeace Germany.

[11] Fukushima: Japan 'to release contaminated water into sea'. (2020, October 16). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/world-asia-54566978

[12] Reuters. (2021, April 13). Countries react to Japan’s plans to release Fukushima water into ocean. Retrieved from Reuters: https://www.reuters.com/business/environment/countries-react-japans-plans-release-fukushima-water-into-ocean-2021-04-13/

[13] China: Japan's plan to dump radioactive water 'extremely irresponsible'. (2021, April 13). Retrieved from CGTN: https://news.cgtn.com/news/2021-04-13/China-expresses-serious-concern-over-Japan-s-plan-on-wastewater--

[14] Nogrady, B. (2021, May 07). Scientists OK plan to release one million tonnes of waste water from Fukushima. Retrieved from Nature: https://www.nature.com/articles/d41586-021-01225-2

[15] S. Korea voices concerns about Japan's Fukushima water release plan. (2021, December 03). Retrieved from Yonhap News Agency: https://en.yna.co.kr/view/AEN20211203010000320

[16] Craft, L. (2021, April 13). Protests as Japan says it will dump radioactive water from crippled Fukushima nuclear plant into the Pacific. Retrieved from CBS NEWS: https://www.cbsnews.com/news/japan-fukushima-radioactive-wastewater-nuclear-plant-pacific-ocean-protest/

[17] Burnie, S. (2020). The reality of the Fukushima radioactive water crisis. Greenpeace Germany.

[18] เมืองพัทยายอมรับปล่อยน้ำเสียลงทะเล ทุ่มงบ 19 ล้านเร่งแก้. (24 ตุลาคม 2560). เข้าถึงได้จาก ข่าวไทยพีบีเอส: https://news.thaipbs.or.th/content/266660

[19] เปิดสถิติ “ขยะทะเล” พลาสติกยังแชมป์ ปี 63 ไหลผ่าน 9 ปากแม่น้ำ 145 ตัน. (26 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงได้จาก ไทยรัฐ: https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2037841

 

บรรณานุกรม

A.Schreurs, M. (2021). Reconstruction and revitalization in Fukushima a decade after the “triple disaster” struck: Striving for sustainability and a new future vision. International Journal of Disaster Risk Reduction. Retrieved from International Journal of Disaster Risk Reduction: https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2212420920315089

Aerial view of the station in 1975, showing separation between units 5 and 6, and 1–4. Unit 6, not completed until 1979, is seen under construction. (n.d.). Retrieved from Wikipedia: https://en.wikipedia.org/wiki/Fukushima_nuclear_disaster#/media/File:Fukushima_I_NPP_1975_medium_crop_rotated_labeled.jpg

Bris, P. a. (2019, November 27). Impact of Japanese Post-Disaster Temporary Housing Areas' (THAs) Design on Mental and Social Health. Retrieved from National Library of Medicine: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31783676/

Burnie, S. (2020). The reality of the Fukushima radioactive water crisis. Greenpeace Germany.

China: Japan's plan to dump radioactive water 'extremely irresponsible'. (2021, April 13). Retrieved from CGTN: https://news.cgtn.com/news/2021-04-13/China-expresses-serious-concern-over-Japan-s-plan-on-wastewater--ZqaLJ3mZXy/index.html

Craft, L. (2021, April 13). Protests as Japan says it will dump radioactive water from crippled Fukushima nuclear plant into the Pacific. Retrieved from CBS NEWS: https://www.cbsnews.com/news/japan-fukushima-radioactive-wastewater-nuclear-plant-pacific-ocean-protest/

Fukushima disaster: Nuclear executives found not guilty. (2019, September 19). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/world-asia-49750180

Fukushima disaster: What happened at the nuclear plant? (2021, March 10). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/world-asia-56252695

Fukushima nuclear disaster , effects of radiation and maps of radiation readings. (2011, June 25). Retrieved from Noor’s List: https://noorslist.wordpress.com/tag/japan/

Fukushima region forges renewable future after nuclear disaster. (2022, March 09). Retrieved from France 24: https://www.france24.com/en/live-news/20220309-fukushima-region-forges-renewable-future-after-nuclear-disaster

Fukushima: Japan 'to release contaminated water into sea'. (2020, October 16). Retrieved from BBC: https://www.bbc.com/news/world-asia-54566978

Hayakawa, M. (2016). Increase in disaster-related deaths: risks and social impacts of evacuation. ICRP, 123-128. Retrieved from National Library of Medicine: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27703057/

IAEA, Japan Agree on Timeline for Safety Review of Water Release at Fukushima Daiichi. (2021, September 09). Retrieved from IAEA: https://www.iaea.org/newscenter/pressreleases/iaea-japan-agree-on-timeline-for-safety-review-of-water-release-at-fukushima-daiichi

Japanese PM declares nuclear power emergency situation. (2011, March 11). Retrieved from DW: https://www.dw.com/en/japanese-pm-declares-nuclear-power-emergency-situation/a-6467113

Little, J. B. (2019, January 16). Fukushima Residents Return Despite Radiation. Retrieved from Scientific American: https://www.scientificamerican.com/article/fukushima-residents-return-despite-radiation/

Luangdilok, W. (2020). The explosions at Fukushima Daiichi Unit 3 and Unit 4 and implications on the evaluation of 1F3 accident. Nuclear Engineering and Design, 1-10.

Nogrady, B. (2021, May 07). Scientists OK plan to release one million tonnes of waste water from Fukushima. Retrieved from Nature: https://www.nature.com/articles/d41586-021-01225-2

Pletcher, K. (2022, April 22). Japan earthquake and tsunami of 2011. Retrieved from Britannica: https://www.britannica.com/event/Japan-earthquake-and-tsunami-of-2011

Reuters. (2021, April 13). Countries react to Japan’s plans to release Fukushima water into ocean. Retrieved from Reuters: https://www.reuters.com/business/environment/countries-react-japans-plans-release-fukushima-water-into-ocean-2021-04-13/

S. Korea voices concerns about Japan's Fukushima water release plan. (2021, December 03). Retrieved from Yonhap News Agency: https://en.yna.co.kr/view/AEN20211203010000320

Toshiba to supply 46 onshore wind turbines in Fukushima. (2022, April 06). Retrieved fromVaisara: https://www.windtech-international.com/projects-and-contracts/toshiba-to-supply-46-onshore-wind-turbines-in-fukushima

Why Japan will release contaminated water from Fukushima into the ocean. (2021, June 4). Retrieved from Lifegate: https://www.lifegate.com/fukushima-water-release-safecast

เปิดสถิติ “ขยะทะเล” พลาสติกยังแชมป์ ปี 63 ไหลผ่าน 9 ปากแม่น้ำ 145 ตัน. (26 กุมภาพันธ์ 2564). เข้าถึงได้จาก ไทยรัฐ: https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2037841

เมืองพัทยายอมรับปล่อยน้้ำเสียลงทะเล ทุ่มงบ 19 ล้านเร่งแก้. (24 ตุลาคม 2560). เข้าถึงได้จาก ข่าวไทยพีบีเอส: https://news.thaipbs.or.th/content/266660

สถิติขยะในทะเลทั่วโลก 2022 มลพิษทางทะเลอยู่ใกล้แค่เอื้อม. (11 มกราคม 2565). เข้าถึงได้จาก Spring news: https://www.springnews.co.th/spring-life/819924

 

 

 

Login